ท่านกำลังหนักใจกับการรับมือปัญหาหนูบุกฟาร์มอยู่หรือไม่ หนู...ศัตรูตัวฉกาจที่สร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยอุปนิสัยที่ชอบกัดแทะ ซึ่งไม่จำเป็นว่ามันจะต้องกัดแทะเฉพาะอาหารเท่านั้น แต่มันจะกัดแทะสิ่งต่างๆ ที่อยู่ตามบริเวณทางเดินของมัน เพื่อทำให้ฟันของมันมีความยาวที่พอดีและคมอยู่เสมอ หลายท่านพยายามหาวิธีกำจัดหนูทุกวิถีทางแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักที ลงทุนใช้เหยื่อพิษก็แล้ว ช่วงแรกเห็นซากหนูตาย แต่แล้วทำไมระยะต่อมาจึงไม่ได้ผลเหมือนเดิม หนูเข็ดขยาดเหยื่อได้อย่างไร และเราจะต้องเลือกเหยื่อพิษอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบ...
หนูเป็นสัตว์ค่อนข้างฉลาด สามารถเรียนรู้ จดจำและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีระบบประสาทสัมผัสด้านการรับรสที่ดีมาก สามารถรับรสได้ถึง 250 ส่วนในพันล้านส่วน (ppm) และปัจจัยเหล่านี้นี่เองที่เป็นสาเหตุหลักของการเข็ดขยายเหยื่อของหนู การเลือกใช้เหยื่อพิษที่ประกอบด้วยสารสำคัญประเภทออกฤทธิ์เร็ว (acute poisoned rodenticides, single dose rodenticides) ออกฤทธิ์เฉียบพลันทันที เช่น arsenic, sodium fluoracetate, castrix, antu และ zinc phosphide หรือยาดำ เป็นต้น เหยื่อประเภทนี้ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาท ทำให้หนูเป็นอัมพาตและตายในที่สุด ข้อดีก็คือ เห็นผลเร็ว หนูตายภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ถึง 1 วัน และราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียมากมายเช่นกัน ได้แก่ อันตรายสูงต่อมนุษย์และสัตว์อื่น ไม่มียาแก้พิษ และที่สำคัญหากหนูได้รับสารพิษในปริมาณน้อยเกินไป หรือไม่ครบโด๊สที่จะทำให้หนูตาย หนูจะเกิดอาการเจ็บปวดและทรมาร จากนั้นหนูจะเรียนรู้และจดจำลักษณะต่างๆ ของเหยื่อนั้นๆ ได้แก่ รูปแบบ สี รวมถึง กลิ่น และรสชาด และหนูจะสื่อสารหรือบอกต่อลักษณะของเหยื่อที่มันกินให้กับหนูตัวอื่นๆ ในฝูง ทำให้เกิดปัญหาว่าหนูมัก “เข็ดขยาดเหยื่อ” นั้นเอง
ต่อมามีการพัฒนาสารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้า รุ่นที่ 1 จำพวกกลุ่มวาร์ฟาริน (wafarin) ขึ้นมา เพื่อใช้ทดแทนสารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์เร็ว แต่ในปี พ.ศ. 2501 ก็มีรายงานการดื้อหรือต้านทานต่อสารวาร์ฟารินของหนูหริ่งบ้าน และหนูนอร์เวย์ ในหลายประเทศ ทำให้เหยื่อพิษกลุ่มนี้ใช้ไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก ปัจจุบันมีการพัฒนาสารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้า รุ่นที่ 2 ชนิดกินครั้งเดียวตาย (Single Dose) โดยพัฒนาและผลิตขึ้นเพื่อใช้กำจัดหนูที่ดื้อต่อสารกลุ่มวาร์ฟาริน ได้แก่ bromadiolone และ brodifacoum เป็นต้น แม้ว่าสารประเภทนี้มักจะไม่เห็นหนูตายในทันทีที่ใช้ หรือทำให้หนูตายช้าไม่ทันใจผู้ใช้ แต่ก็ถือได้ว่าสามารถแก้ปัญหาการเข็ดขยาดเหยื่อได้ อีกทั้งสามารถกำจัดหนูได้หมด 100% และปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์อื่น
สารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้า รุ่นที่ 2 ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) เมื่อหนูได้รับเข้าไปแล้วจะเกิดการสะสมในร่างกายและเข้าขัดขวางการทำปฏิกิริยาการย้อนกลับของวิตามินเค (recycling) ไม่ให้สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของวิตามินเคในรูปที่ยังไม่ถูกกระตุ้น (oxidized vitamin K) ให้เป็นวิตามินเคในรูปที่ถูกกระตุ้นแล้ว (reduced form) ทำให้วิตามินเคที่ถูกกระตุ้นแล้วไม่สามารถเข้าเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการแข็งตัวของเลือดได้ ดังนั้นเมื่อหนูได้รับการกระทบกระเทือน หรือการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดบาดแผลเล็กๆ ของเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดฝอยเหล่านี้จะไม่ถูกซ่อมแซม ทำให้เลือดไหลออกทางหลอดเลือดฝอย และช่องเปิดของร่างกาย และทำให้หนูตายในที่สุดด้วยวิการเลือดคั่งในช่องท้อง (internal hemorrhaging) แต่อย่างไรก็ตาม สารพิษประเภทนี้จะไม่ทำให้หนูตายในทันทีที่ได้รับเหยื่อพิษ เนื่องจากในร่างกายของหนู ยังคงสามารถใช้วิตามินเคในรูปที่ถูกกระตุ้นแล้ว และโพรทรอมบิน (prothrombin) ที่สามารถออกฤทธิ์ได้ซึ่งมีสะสมในร่างกายอยู่จนกว่าจะหมดลง หนูที่ได้รับเหยื่อพิษประเภทนี้จะตายภายในระยะเวลา 3-15 วัน ขึ้นอยู่กับค่าความเป็นพิษของเหยื่อพิษแต่ละชนิด
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการเลือกใช้เหยื่อกำจัดหนู ก็คือต้นทุนการกำจัดหนู หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าการเลือกใช้เหยื่อกำจัดหนูราคาถูก หรือจ่ายเงินน้อย แต่ได้ปริมาณเหยื่อพิษนำไปโรย หรือนำไปคลุกกับเหยื่อล่อได้ในปริมาณมากนั้น จะเป็นการช่วยลดต้นการกำจัดหนู แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเหยื่อ นอกจาก ความน่ากิน ความคงทน และลักษณะของเหยื่อสำเร็จรูปแล้ว ค่าความเป็นพิษหรือค่าความรุนแรงของสารสำคัญ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของเหยื่อกำจัดหนูสำเร็จรูป วิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาเปรียบเทียบต้นทุนการกำจัดหนูเมื่อใช้เหยื่อสำเร็จรูปแต่ละชนิด คือการนำค่าความเป็นพิษ หรือ ค่าความรุนแรงของสารพิษ (LD50; Lethal dose 50%) หรือ ปริมาณของสาร (หน่วยเป็นมิลลิกรัม/กิโลกรัม ของน้ำหนักหนูทดลอง) ที่มีผลทำให้หนูทดลอง 100 ตัว มีโอกาสตาย 50 ตัว เมื่อป้อนสารพิษชนิดนั้นเข้าทางปาก มาคำนวณปริมาณหนูที่ตายจากการใช้เหยื่อ 1 กิโลกรัม ดังแสดงในตารางด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าเหยื่อกำจัดหนูสำเร็จรูป 1 กิโลกรัม สามารถกำจัดหนูได้หลายร้อยตัว และการเลือกใช้เหยื่อกำจัดหนูราคาถูก ไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับการลดต้นทุนการกำจัดหนูเสมอไป