
หนู (RATS AND MICE)
18/03/2009
VIV ASIA 2009
25/06/2009
หนู (RATS AND MICE)
18/03/2009
VIV ASIA 2009
25/06/2009พรีไบโอติก (PREBIOTICS)
PREBIOTICS หมายถึง ส่วนของอาหารที่สัตว์ย่อยนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่จุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ใหญ่ (เชื้อดี) สามารถใช้ประโยชน์ได้ อาหารกลุ่มนี้มักเป็นคาร์โบไฮเดรตสายสั้นหรือโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (OLIGOSACCHARIDES) ที่ประกอบด้วยน้ำตาลจำนวนไม่กี่โมเลกุลซึ่งยึดเกาะกันด้วยพันธะ GLYCOLYSIDE (เช่น พันธะบีต้า (B)-2,1 ที่สัตว์กระเพาะเดี่ยวย่อยไม่ได้ เป็นต้น) โดยสารจำพวก OLIGOSCCHARIDES นี้ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ไม่เคี้ยวเอื้องมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ OLIGOSCCHARIDES พวกนี้ไม่ถูกย่อยในกระเพาะและลำไส้เล็ก จึงเข้าสู่ลำไส้ใหญ่แล้วทำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย โดยจะเป็นอาหารจำเพาะของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์และจับกับ CARBOHYDRATE RECEPTOR บนผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นโทษ ทำให้เซลล์เหล่านี้ไม่สามารถจับกับเซลล์บุผนังลำไส้เล็ก กระตุ้นให้สัตว์สร้างภูมิต้านทานยังผลให้สัตว์มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น
แหล่งที่มาของ oligosccharides ได้มาจาก 3 แหล่งคือ
1. สกัดออกมาจากพืช เช่น ข้าวสาลี กล้วย หอม กระเทียม และหน่อไม้ฝรั่ง ได้แก่ กลุ่ม fructooligosaccarides และกลุ่ม α-galactooligosaccharides
2. จากการย่อย (limited hydrolysis) ของ polysaccharides ได้แก่ fructooligosaccarides และ xylooligosaccharides
3. จากการสังเคราะห์ (enzymatic synthesis) ได้แก่ กลุ่ม fructooligosaccarides กลุ่ม α-glucooligosaccharides, กลุ่ม β- glucooligosacchrides และกลุ่ม β- galactooligosaccharides โอลิโกแซคคาร์ไรด์ที่สำคัญ ได้แก่
ฟรุคโตโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (Fructooligosaccharide; FOS)
กาแลคโทโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (Galactooligosaccharide)
กลูโคโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (Glucooligosaccharide; GOS)
แมนแนนโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (Mannanoligosaccharide; MOS)
ทรานสกาแลคโทโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (Transgalactooligosaccharide, TOS)
ไซโลโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (Xylooligosaccharide, XOS)
กลไกการทำงานของ Oligosaccharides ที่เติมลงในอาหารสัตว์ (Modes of action)
1. เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น Bifidobacterium, Lactobacilli และ Bacteriodes spp. แบคทีเรียเหล่านี้ใช้ FOS และ GOS เป็นแหล่งอาหารได้ดี ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นโทษเช่น Clostridia, Eubacteria และ Coliform ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีผลในการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และลดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นโทษ
2. oligosaccharides จำพวก soluble fiber อาจจะกระตุ้นให้จุลินทรีย์ในทางเดินอาหารผลิตเอนไซม์ที่ย่อยเยื่อใย ช่วยให้สัตว์ใช้อาหารได้สูงขึ้น เจริญเติบโตมากขึ้น
3. ขัดขวางการจับระหว่าง adhesions บนผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียกับ α-D-mannoseunit ใน glycoprotein ของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ โดยโมเลกุลของ oligosaccharides จะเข้ายึดเกาะกับ adhesions ของเชื้อแบคทีเรียแทน ทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถยึดเกาะกับเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กสัตว์ แล้วก่อให้เกิดโรคได้ (Aniansson et al., 1990)
4. เกิดปฏิกิริยาร่วมระหว่าง oligosaccharides กับ protein receptor บนผนังเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกัน (immunocompetent cells) บนเยื่อบุผนังลำไส้ และกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา Oligosaccharides อาจมีผลในการยับยั้งมะเร็งโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการกลายพันธุ์และการต้านอนุมูลอิสระ
โดยการกำจัดเชื้อโรคมิให้เข้าไปในระบบของร่างกายนี้จะช่วยสงวนภูมิคุ้มกันไม่ให้ถูกใช้ไปโดยไม่จำเป็นและยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโต หยุดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และช่วยเพิ่มการตายตามธรรมชาติของเซลล์ (apoptosis) ซึ่งคุณสมบัติทั้งสามนี้อาจมีฤทธิ์ในการต้านการเกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า โอลิโกฟรุกโตสช่วยเพิ่มความเข้มข้นของแคลเซียมและแมกนีเซียมในลำไส้ใหญ่ ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแร่ธาตุได้มากขึ้นและยังทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นให้กับเซลล์เยื่อบุในผนังลำไส้ด้วย และความเข้มข้นของแคลเซียมที่สูงขึ้นนี้จะทำให้เกิดเกลือของกรดน้ำดี จึงลดอันตรายจากน้ำดีหรือกรดไขมันที่จะมีต่อเซลล์ลำไส้ใหญ่ได้ และยังอาจช่วยควบคุมอัตราการแบ่งตัวและการตายของเซลล์ได้อีกด้วย
ข้อได้เปรียบเหนือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) และสารเสริมชีวนะ (Probiotic)
1. เป็นคาร์โบไฮเดรตสายสั้นที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ จึงไม่มีผลข้างเคียงเรื่องสารพิษตกค้างหรือการก่อโรค
2. ทนทานต่ออุณหภูมิสูงในขบวนการผลิตอาหารสัตว์ และทนทานต่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร จึงใช้ได้ง่าย ไม่ถูกทำลาย ก่อนถึงตัวสัตว์
3. เป็นอาหารจำเพาะในการกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในลำไส้ใหญ่
4. สังเคราะห์ได้ง่าย และมีต้นทุนการผลิตต่ำ
5. ไม่เสี่ยงกับการปนเปื้อนเชื้อโรค ดังเช่นการปนเปื้อนในจุลินทรีย์เสริมชีวนะ