(662) 964 4912-4

|

(662) 964 4915

|

menu_mobile Background Removed

(662) 964 4912-4

(662) 964 4915

menu_mobile Background Removed
menu_mobile Background Removed

(662) 964 491-4

(662) 964 4915

menu_mobile Background Removed
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาผ่านการรับรองให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก PIC/S
07/09/2016
VIETSTOCK 2016 EXPO&FORUM
19/10/2016
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาผ่านการรับรองให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก PIC/S
07/09/2016
VIETSTOCK 2016 EXPO&FORUM
19/10/2016
 

เพิ่มมูลค่าของน้ำนมโค ด้วยการลดโรคเต้านมอักเสบ

สรีระวิทยาของเต้านมโค

     เต้านมโคมีทั้งหมด 4 เต้า แบ่งเป็นเต้านมคู่หน้า 2 เต้า และคู่หลัง 2เต้า เต้านมแต่ละเต้าจะแยกกันผลิตน้ำนม โดยแต่ละเต้าแยกกันอย่างอิสระด้วยแผ่น
ผังผืดกั้นและมีทางผ่านของน้ำนมออกสู่ภายนอกอย่างอิสระต่อกันโดยผ่านทางหัวนมซึ่งเป็นทางผ่านออกของน้ำนมสู่ภายนอกร่างกาย ตรงปลายของรูหัวนมจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากคือ teat sphincter ทำหน้าที่ปิด-เปิดปล่อยให้น้ำนมออกสู่ภายนอก เต้านมคู่หลังจะผลิตน้ำนมได้ประมาณ 60% ของปริมาณน้ำนมทั้งหมด ภายในเต้านมแต่ละเต้าประกอบด้วยเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายฟองน้ำที่เรียกว่าอัลวีโอลัย (alveoli) เป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำนมเป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยเซลล์เพียงชั้นเดียวมีลักษณะคล้ายลูกโป่งมีช่องว่างอยู่ภายใน สัดส่วนการกักเก็บน้ำนมประมาณว่า 50% จะเก็บไว้ในท่อเล็กๆ ภายใน lobe และภายในถุงนม(alveoli) และอีกประมาณ 50% ของน้ำนมทั้งหมดจะกักเก็บจะเก็บไว้ใน gland cisterns, sinuses และท่อรวมนม น้ำนมที่สร้างขึ้นจะไหลผ่านท่อน้ำนมเล็กลงสู่ท่อน้ำนมใหญ่แล้วไปรวมตัวกันที่แอ่งนมที่กักเก็บไว้น้ำนมได้มาก สามารถจุได้ 500-2,000 ml ปริมาณความจุจะแตกต่างกันตามอายุและพันธุ์ แอ่งน้ำนมนี้จะเป็นส่วนพักของน้ำนมก่อนที่จะได้รับการรีดน้ำนมออก

โรคเต้านมอักเสบ

คือการเปลี่ยนแปลงภายในเต้านมที่ขึ้นอยู่กับการระคายเคืองของเต้านมร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระ ด้านจุลชีวะ และ การพบเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบของส่วนต่างๆ ของเต้านม เช่น กระเปาะสร้างนม ท่อน้ำนม ท่อรวมน้ำนมสาเหตุของปัญหาอาจเกิดขึ้นจากการรุกรานของเชื้อแบคทีเรียทางรูเปิดของหัวนมหรือทางบาดแผลที่เกิดขึ้นการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนมาก แต่อาจเกิดจากเชื้อราหรือยีสส์ก็ได้ โคสามารถติดเชื้อแบคทีเรียได้จาก 2 แหล่งสำคัญคือ จากแม่โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบและจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวโคเอง เช่น อุจจาระ พื้นคอก มือผู้รีด เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียที่พบในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวโคได้แก่ (Streptococcus spp., E. coli, Klebsiella pneumoniae, Enterobacter spp., Pseudomonas aeruginosa, Pseudomonas pseudomallei) ส่วนเชื้อที่พบเฉพาะที่ตัวโคได้แก่เชื้อ (Staphylococcus aureus, Streptococcus agalactiae) เชื้อจํานวนมากขึ้นเมื่อมีแรงมากระแทกที่เต้านมจะทําให้รูหัวนมเปิดเชื้อจะเข้าสู่ภายในเต้านมได้ เมื่อเข้าสู่ภายในแล้วเชื้อจะไปทําลายเนื้อเยื่อของเต้านมโดยการเกาะยึดเนื้อ เมื่อเซลล์เต้านมอักเสบเม็ดเลือดขาวจากเส้นเลือดก็พลั่งพลูเข้าสู่เต้านม เพื่อทําลายเชื้อตัวนั้น โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบจึงตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ

 

อาการ เต้านมอักเสบมี 2 ลักษณะสำคัญคือ

1. เต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเต้านมและน้ำนม เป็นได้มากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ปริมาณเชื้อ และตัวแมโค เต้านมอาจมีลักษณะบวม แข็ง เท่านั้น หรือในรายที่เป็นรุนแรงมากอาจถึงกับเต้านมแตก ส่วนลักษณะน้ำนมอาจพบตั้งแต่น้ำนมเป็นสีเหลืองเข้มข้นจนถึงเป็นน้ำใสมีหนองปนเลือด เต้านมอักเสบแบบนี้แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
1.1 เต้านมอักเสบชนิดรุนแรง เต้านมอักเสบนี้แม่โคจะแสดงอาการป่วยร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร หายใจหอบ ท้องเสีย
1.2 เต้านมอักเสบชนิดไม่รุนแรง เต้านมอักเสบชนิดนี้แม่โคจะกินอาหารได้ตามปกติ อาจพบมีไข้เล็กน้อย
1.3 เต้านมอักเสบชนิดเรื้อรัง เต้านมอักเสบชนิดนี้พบการเปลี่ยนแปลงของเต้านมได้เล็กน้อย หรืออาจพบแต่เพียงน้ำนมเปลี่ยนแปลงให้เห็นก็ได้ มักจะเป็นๆ หายๆ เมื่อคลําดูจะพบก้อนแข็งอยู่ภายในเต้านม

2. เต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ ไมมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเต้านมและน้ำนมให้เห็น การอักเสบแบบนี้พบได้ 8-10 เท่าของการอักเสบแบบแสดงอาการ และมีสาเหตุสําคัญที่ทําใหคุณภาพน้ำนมเสื่อมเนื่องจากปริมาณเชื้อแบคทีเรียและเม็ดเลือดขาวในน้ำนมสูง สามารถตรวจได้โดยใชน้ำยา CMT หาปริมาณเม็ดเลือดขาวในน้ำนม

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเต้านมอักเสบนั้นมีหลายปัจจัย ได้แก่

1. ลักษณะเฉพาะตัวของแม่โค
- ลักษณะทางร่างกาย เช่น หัวนมที่มีรูปร่างผิดปกติ ทำให้ขัดขวางการรีดนม เช่น หัวนมแฝด หัวนมเกิน หัวนมสั้น หรือหัวนมใหญ่ผิดปกติ
- ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อของเต้ามนมเช่น มีแผลฉีกขาดที่หัวนม รูท่อนมเสื่อม รูหัวนมเปิดกว้างอันเนื่องมาจากอายุการใช้งานที่มากจนเกินไป การรีดนมที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เป็นทางนำเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เต้าได้ง่ายขึ้น
- ระยะของการรีดนม ระยะของการรีดนมมีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรค เช่น พบว่าช่วงหยุดพักรีดนม มีอัตราการเกิดโรคสูง เป็นต้น
- อายุและพันธุกรรมของแม่โค

2. เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค นอกจากตัวเชื้อเองแล้ว ปัจจัยอื่นๆจากเชื้อที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดโรคได้แก่ สารพิษที่เชื้อปล่อยออกมา ปัจจัยอื่นที่ทำให้เชื้อมีความรุนแรง และการดื้อยาของเชื้อ เป็นต้น

3. สิ่งแวดล้อมรอบตัวโค
- การจัดการการเลี้ยงที่ถูกต้องเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพในการควบคุมและป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม
- ฤดูกาล เช่นสภาพอากาศ ความชื้น ความร้อน ฤดูฝนมีผลต่ออัตราการเกิดโรคเต้านมอักเสบสูง
- การให้อาหาร เช่นให้อาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการ การให้อาหารเป็นเวลา การเก็บรักษาวัตถุดิบอาหารสัตว์ การจัดการเศษอาหารเหลือ
- โรงเรือน เช่นการจัดการที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สกปรก ชื้นแฉะ และหมักหมมทำให้เกิดการสะสมและแพร่เชื้อโรค
- การรีดนม เช่นการรีดนมผิดวิธี การรักษาความสะอาดก่อนและระหว่างรีดนมไม่ดี ไม่มีการจุ่มหัวนมด้วยน้ำยาจุ่มหัวนมหลังรีด ความสะอาดและมาตรฐานของเครื่องรีดนม ระบบการทำงานของเครื่องรีด ท่อรีด รวมทั้งผู้รีดที่ขาดความชำนาญและความรู้ความเข้าใจในการเกิดโรค การควบคุมป้องกันและการเฝ้าระวังโรค

การรักษา

การรักษาโรคเต้านมอักเสบต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นส่วนมาก เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิดก็สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะต่างๆ เพื่อใช้ยาให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ

1. เต้านมอักเสบที่แสดงอาการไม่รุนแรง พบเฉพาะการเปลี่ยนแปลงลักษณะน้ำนมและเต้านมบวมเล็กน้อย โคไม่แสดงอาการป่วยร่วมด้วย ลักษณะเช่นนี้ใช้ยาสอดเต้าสำเร็จรูป สอดเต้าวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 วัน ก่อนสอดยาเข้าเต้านมหัวนมจะต้องสะอาดและแห้ง ตรวจความสะอาดหัวนมโดยเฉพาะรูเปิดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และแต่ละเต้าควรใช้สำลีคนละชิ้น การสอดยาไม่ควรสอดหัวฉีดเข้าไปในหัวนมจนสุด เพราะจะไปทำอันตรายต่อสารเคราตินที่รูเปิดหัวนมได้ เมื่อสอดยาหมดแล้วควรคลึงเต้านมด้วยเพื่อให้ยากระจายออกไปทั่วทั้งเต้า

2. เต้านมอักเสบแบบรุนแรง แม่โคแสดงอาการป่วยร่วมด้วย เช่น ซึม ไข้สูง เบื่ออาหาร หายใจหอบ ต้องรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้ากล้าม หรือเข้าเส้นเลือดร่วมกับการให้น้ำเกลือ ยาลดการอักเสบและอ๊อกซีโตซินแต่ก่อนรักษาควรเก็บน้ำนมส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อหาชนิดของเชื้อแบคทีเรียและทดสอบประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อนั้นก่อน การให้อ๊อกซีโตซินก่อนรีดนมจะช่วยให้เต้านมปล่อยน้ำนมออกมาหมด และการให้คอร์ติโคสเตอรอยด์ แก่แม่โคท้องแก่ อาจทำให้เกิดการแท้งลูกได้

การรักษาเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ

เต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการจะมีประมาณ 8-10 เท่าของแบบแสดงอาการ ถ้าพบว่าน้ำนมภายในฟาร์มไม่ผ่านการตรวจรับของศูนย์รวมนม และปริมาณเม็ดเลือดขาวภายในน้ำนมสูง จะต้องทำการตรวจหาเชื้อจากแม่โคทุกๆ ตัว และทุกเต้า เมื่อพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเต้านมอักเสบ ต้องรักษาทันทีเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อออกไปสู่แม่โคตัวอื่นๆ

การควบคุมและป้องกัน

1.การจัดการคอกเลี้ยง
-ขนาดพื้นที่ในการเลี้ยงต่อตัวควรมีขนาดที่เหมะสม ไม่แออัดเกินไป
-คอกที่เลี้ยงต้องแห้ง สะอาด ไม่มีการหมักหมมของอุจจาระ

2.การจัดการแม่โคก่อนรีดนม
-ควรล้างเต้านมให้สะอาดก่อนการรีดนมด้วยน้ำยาคลอรีนและเช็ดให้แห้ง
-สำหรับทำความสะอาดเต้านม ให้ใช้ผ้าสะอาดจุ่มลงในน้ำยาฆ่าเชื้อที่เตรียมไว้ แล้วนำมาเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมโค โดยแนะนำให้ใช้ผ้าเช็ดเต้าเฉพาะโคแต่ละตัว
-ผู้รีดก่อนทำการรีดจะต้องล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง

3.การจัดการแม่โคหลังรีดนม
-ควรทำความสะอาดหัวนมทุกครั้งหลังรัดนนมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นกลุ่มของ ไอโอโดฟอร์ ที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ 5.4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยเติมน้ำยาฆ่าเชื้อลงในถ้วยสำหรับจุ่มหัวนม (teat cup) ปริมาณ 2 ใน 3 ส่วน ของถ้วย โดยไม่ต้องเจือจางก่อนใช้ แล้วนำไปจุ่มหัวนมโคแต่ละตัวทันทีหลังจากรีดนมเสร็จ หรือเติมน้ำยาฆ่าเชื้อ ลงในกระบอกสำหรับฉีดพ่น โดยไม่ต้องเจือจาง แล้วนำไปพ่นหัวนมโคแต่ละตัวให้ทั่ว ทันทีหลังจากรีดนมเสร็จ
-ทำความสะอาดเครื่องรีดนม โดยนำเครื่องรีดนมจุ่มลงในน้ำยาฆ่าเชื้อที่เตรียมไว้ แกว่งไปมาในน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 30 วินาที แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด ก่อนนำไปใช้รีดนม

4.การจัดการอื่นๆ
-แม่โคที่นำเข้ามาใหม่ควรได้รับการกักและตรวจโรคก่อนที่จะนำมาเลี้ยงในฟาร์ม
-ก่อนรีดน้ำนมทุกครั้งต้องตรวจด้วยถ้วยตรวจนม (strip cup) เพื่อดูลักษณะทางกายภาพของน้ำนม
-ควรตรวจโคในฝูงด้วยน้ำยา CMT ทุกครั้งที่ตรวจพบว่าโคเป็นโรคเต้านมอักเสบ หรือ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
-ควรสอดยาดราย (Dry) เพื่อป้องกันการเกิดเต้านมอักเสบในช่วงก่อนหรือหลังคลอดลูกใหม่ๆ

     การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการโรคเป็นวิธีที่สามารถจัดการต้นเหตุของปัญหาและเป็นการป้องกันโรคได้ดีกว่าการจัดการปลายเหตุด้วยการรักษา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สามารถจัดการได้ง่ายที่สุดคือเรื่องสุขอนามัยของตัวผู้รีด ตัวโค และในระหว่างการรีดนม ทั้ง ความสะอาดและการปฏิบัติเพื่อป้องการเชื้อเข้าสู่เต้านมด้วยการจุ่มเต้าหลังรีด ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคเข้าสู่หัวนม ช่วยควบคุมโรคเต้านมอักเสบในโคนม ป้องกันและรักษารอยแตกที่หัวนมได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

จิตรกมล ธนศักดิ์. (2552). โคนมระยะเปลี่ยนผ่าน: โรค การวินิจฉัย การรักษา. กรุงเทพฯ. ตีรณสาร. (หน้า 109-147)

สถาบันสุขภาพสัตว์แหงชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. เต้านมอักเสบ (MASTITIS).
สืบค้นจาก HTTP://REGION7.DLD.GO.TH

ภัทรภร ทัศพงศ์. (2556). RUMINANTS PRODUCTION.
สืบค้นจาก HTTP://WWW.AGI.NU.AC.TH