"หนู" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสกุลในวงศ์ Muridae มีฟันแทะ คือ มีฟันคู่หน้าทั้งบนและล่าง 2 คู่ ที่มีความแข็งแรงและคมเป็นพิเศษมีลักษณะโค้งยื่นสามารถเจริญยาวได้ตลอดชีวิตของมัน จึงมีพฤติกรรมในการกัดแทะเพื่อให้ฟันมีขนาดสั้นพอเหมาะและคมอยู่เสมอ ซึ่งจากพฤติกรรมของมันทำให้นำความเสียหายแก่เศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงที่เด่นชัด คือ การกัดกินพืชผลทางการเกษตร เครื่องอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้หนูยังเป็นสัตว์พาหะสำคัญที่นำโรคหลายชนิดมาสู่คนและสัตว์ เช่น โรคฉี่หนู, กาฬโรค, เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ และโรคภูมิแพ้ เป็นต้น ส่วนความเสียหายทางอ้อมมักเกิดจากการกัดแทะของหนูตามสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน สายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในอาคารทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หนูเป็นมหันต์ภัยตัวน้อยที่เกษตรกรมักมองข้าม สร้างความเสียหายภายในฟาร์มโดยการกัดแทะอุปกรณ์ สิ่งปลูกสร้าง โรงเรือน กระสอบอาหาร กินอาหารสัตว์ โดยหนูนอร์เวย์ขนาดโตเต็มวัยจะกินอาหารแห้งประมาณ 28 กรัมต่อวัน และถ้าหากมีหนูนอร์เวย์ 100 ตัวในแหล่งใดแหล่งหนึ่ง จะกินอาหารประมาณ 1 ตันต่อปี และจากการที่หนูเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ตั้งท้องนาน 21 – 25 วัน และออกลูกครอกละหลายตัว หลังคลอดลูกแล้ว 24 ชั่วโมง สามารถรับการผสมพันธุ์ได้ทันที ในปีหนึ่ง ๆ สามารถออกลูกได้หลายครอก ซึ่งถ้าปล่อยหนู 1 คู่ให้อยู่ด้วยกันในเวลา 1 ปี จะสามารถขยายพันธุ์รวมกันได้มากกว่า 1,000 ตัว ความเสียหายก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ และหนูยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่สุกร เช่น โรคบิดมูกเลือด, โรคปากและเท้าเปื่อย, โรคท้องเสียจากโรตาไวรัส, โรคฉี่หนู, โรคพยาธิ (trichinosis) และโรคพิษสุนัขบ้าเทียม เป็นต้น โดยหนูสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคต่าง ๆ ไปสู่สัตว์โดยผ่านทางอาหารและน้ำที่หนูกิน ซึ่งในขณะที่หนูกินน้ำหรืออาหาร มูล ขน น้ำลายและปัสสาวะของหนู จะปนเปื้อนไปกับน้ำและอาหาร ทำให้เกิดโรคกับสัตว์ที่เลี้ยง โดยหนูสามารถถ่ายมูลได้ถึงวันละ 40 ก้อน และปัสสาวะได้วันละ 3,000 หยด ซึ่งมีปริมาณมากพอที่จะปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและทำให้สัตว์เป็นโรค ผลก็คือ ผลผลิตลดลงและผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การกำจัดหนูภายในฟาร์มจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
หนูที่เข้ามาทำความเสียหายในฟาร์มที่สามารถพบเห็นได้ มี 3 ชนิด ได้แก่
หนูนอร์เวย์ (Norway rat; Rattus norvegicus) บางที่เรียกหนูขยะ หนูท่อ หนูสีน้ำตาล หนูชนิดนี้เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูล น้ำหนักตัว 280 – 480 กรัม ลักษณะขนหยาบมีสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีเทา ส่วนจมูกทู่ ใบหูเล็ก ตาเล็ก หางสั้น มักอยู่ตามรู ตามท่อระบายน้ำโสโครก ท่อน้ำ ใต้ถุนตึกหรือบ้านเรือน บริเวณลำคลอง กองขยะมูลฝอย ไม่ชอบขึ้นที่สูง กินอาหารวันละ 28 กรัม ชอบกินอาหารบูดเน่า พวกแป้ง ผัก เนื้อ และปลา ระยะทางการหากิน 250 – 300 ฟุต ลักษณะมูลมีขนาดใหญ่คล้ายแคปซูลยาวประมาณ 12-15 มิลลิเมตร
ภาพหนูนอร์เวย์ และลักษณะมูล
หนูท้องขาว (Rattus rattus) บางครั้งเรียก หนูหลังคา (roof rat) มีขนาดใหญ่ปานกลางรูปร่างเพรียว มีน้ำหนักตัว 225 กรัม ขนด้านหลังมีสีน้ำตาล ฐานขนสีเทาปลายสีน้ำตาล ไม่มีขนคล้ายหนาม (spine) ขนส่วนท้องมีสีขาวปนเทาหรือเหลืองครีม จมูกแหลม ตาโปน มีขนาดหูใหญ่ หางมีสีดำและมีเกล็ดละเอียดตลอดหาง ความยาวของหางมากกว่าความยาวของลำตัว ชอบอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือน หลังคาบ้าน บริเวณกันสาดใต้หลังคา มีความสามารถในการปีนป่ายเก่ง กินอาหารทุกชนิด กินอาหารวันละ 28 กรัม อาหารที่ชอบมากคือ เมล็ดพืช เช่น ข้าวเปลือก ถั่ว ข้าวโพด ระยะทางหากิน 100 - 150 ฟุต ลักษณะมูลเป็นรูปกระสวย ปลายแหลม ขนาดความยาวประมาณ 10 – 12 มิลลิเมตร
ภาพหนูท้องขาว และลักษณะมูล
หนูหริ่ง (Mus musculus) หรือบางครั้งเรียกว่า house mouse เป็นหนูในตระกูล Mus ชนิดที่พบเห็นตามบ้านเรือนมาก เป็นหนูบ้านที่มีขนาดเล็กที่สุด มีน้ำหนักตัว เพียง 20 กรัม มีจมูกแหลม ขนด้านหลังสีเทาบางทีมีสีน้ำตาลปน มีลักษณะอ่อนนุ่ม ขนด้านท้องสีขาว ส่วนหางมี 2 สีด้านบนสีดำ ส่วนด้านล่างสีจางกว่า อาศัยอยู่ตามบ้านเรือน มักชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามตู้ โต๊ะ ที่เก็บของ ตามช่อง ฝาผนัง ตามครัว กินอาหารได้ทุกชนิด แต่ชอบพวกเมล็ดพืช กินอาหารวันละ 2.8 กรัม ระยะทางการหากิน 10 – 30 ฟุต ลักษณะมูลมีขนาดเล็กกลมยาวปลายแหลมมีขนปน
ภาพหนูหริ่ง และลักษณะมูล
หนูเป็นสัตว์ค่อนข้างฉลาด และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งยังแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว การที่จะหาทางป้องกันและกำจัดให้ได้ผลนั้นต้องมีวิธีการที่แน่นอน ถูกต้องตามหลักวิชาการ และต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถลดประชากรของหนูลงได้ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.สำรวจการแพร่ระบาดของหนู มีความสำคัญและจำเป็นต่อการป้องกันและกำจัดหนู เพราะช่วยให้ทราบว่ามีหนูอยู่บริเวณนั้นมากน้อยเพียงใด เป็นหนูชนิดใด ร่องรอยของหนูที่สามารถสำรวจพบ ได้แก่ รอยกัดแทะ โพรงหรือรูหนู รอยทางเดิน มูลหนู รอยเมือก กลิ่นสาบ เป็นต้น เพื่อวางแผนการป้องกันกำจัดต่อไป
2. ลดที่อยู่อาศัยและป้องกันหนู การกำจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อหนู เพื่อลดแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของหนู และป้องกันหนูจากภายนอกเข้ามาภายในบริเวณฟาร์ม เป็นการลดจำนวนประชากรของหนูได้ทางหนึ่ง
อาคารที่สามารถป้องกันไม่ให้หนูเข้าได้นั้นต้องไม่มีช่องทางเปิดอื่นใดที่หนูจะเข้าได้
ปิดหรืออุดทางหนูเข้าออก เมื่อพบว่ามีช่องทางเดินของหนู
กำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำลายแหล่งอาหารและที่พักอาศัยของหนู
ปรับปรุงฟาร์ม อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย ให้ถูกสุขลักษณะ
เก็บอาหารสุกรให้มิดชิด เป็นระเบียบ และกำจัดอาหารที่ตกหล่อนตามพื้นเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
3. การเลือกวิธีกำจัดที่ถูกต้อง การเลือกวิธีกำจัดดูได้จากการสำรวจว่าพบหนูชนิดใด มีปริมาณมากน้อยเพียงใด การกำจัดหนูให้ได้ผลมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานที่และสภาพแวดล้อม เมื่อสำรวจพบหนูในปริมาณมากต้องกำจัดอย่างเร่งด่วน ควรใช้เหยื่อที่มีประสิทธิภาพสูง เห็นผลเร็ว เช่น Brodifacoum เพื่อลดจำนวนประชากรของหนูลงอย่างรวดเร็วให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อประชากรของหนูลดลงแล้วจึงเปลี่ยนมาใช้เหยื่อที่มีความรุนแรงต่ำลงมา เช่น Bromadiolone เพื่อควบคุมประชากรของหนูที่เหลืออยู่ไม่ให้แพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นและกำจัดให้หมดไป และการวางเหยื่อควรทำอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการวางเหยื่อควรวางในกล่องวางเหยื่อ (Bait station) เพื่อป้องกันเหยื่อปนเปื้อนออกสู่ภายนอกและป้องกันสัตว์ในฟาร์ม เหยื่อที่ดีควรมีรูสำหรับร้อยแท่งลวดเพื่อยึดกับกล่องวางเหยื่อด้วย สำหรับการวางกล่องวางเหยื่อนั้น มีหลักในการวางคือ “การวางเหยื่อ 3 แนว” แนวที่ 1 คือ วางเหยื่อภายในอาคาร เพื่อกำจัดหนูภายในอาคาร ระยะการวางขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของการบุกรุก โดยจะวางเหยื่อห่างกันประมาณ 4 – 9 เมตร ส่วนแนวที่ 2 คือ วางเหยื่อรอบนอกอาคาร เพื่อป้องกันหนูภายนอกอาคารไม่ให้เข้าไปในอาคาร โดยวางห่างกันประมาณ 10-15 เมตร ขึ้นกับความรุนแรงของการบุกรุก โดยจะเน้นวางรอบ ๆ ประตูทางเข้า และ แนวที่ 3 คือ วางเหยื่อรอบ ๆ แนวรั้ว เพื่อป้องกันหนูจากภายนอกเข้ามาภายในฟาร์ม
กุญแจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการวางเหยื่อ
เลือกชนิดเหยื่อให้เหมาะสมกับการระบาดของหนู
วางเหยื่อในที่ ๆ หนูผ่าน ในปริมาณที่เพียงพอ
วางเหยื่อในกล่องวางเหยื่อเพื่อความปลอดภัย
ลดแหล่งน้ำและอาหารของหนูถ้าเป็นไปได้
ควรอ่านและปฏิบัติตามฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
ภาพการวางกล่องวางเหยื่อในที่ที่สำรวจพบมูลหนูและหนูเดินผ่าน
ประเภทของสารเคมีกำจัดหนู
สารออกฤทธิ์ประเภทออกฤทธิ์เร็ว เป็นสารที่ออกฤทธิ์เฉียบพลันทันที เมื่อหนูได้รับสารนี้เพียงครั้งเดียว (Single dose) เช่น Arsenic, Sodium Fluoracetate, Zinc Phosphide, เป็นต้นแต่มี ข้อเสีย คือ หนูมักเข็ดขยาดเหยื่อ อันตรายสูงต่อมนุษย์และสัตว์อื่น หนูไม่ค่อยยอมรับเหยื่อ สารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้า สามารถแบ่งได้อีกเป็น 2 กลุ่ม คือ ออกฤทธิ์ช้ายุคแรก ต้องกินหลายครั้งถึงจะตาย (Multiple Dose) เช่น Warfarin, Coumatetralyl, Diphacinone เป็นต้น และออกฤทธิ์ช้ายุคที่สอง กินครั้งเดียวตาย (Single Dose) เช่น Difenacoum, Bromadiolone, Brodifacoum, Bromethaline, Flocoumafen เป็นต้น ข้อดี คือ หนูไม่เข็ดขยาดเหยื่อ ปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์อื่น มียาแก้พิษ ป้องกันการต่อต้านจากสารกำจัดหนูยุคแรก
ภาพรูปแบบของเหยื่อกำจัดหนู

รูปแบบของเหยื่อกำจัดหนู
รูปแบบมีการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้เหยื่อแบบผงผสมวัตถุดิบอาหาร เช่น เมล็ดธัญพืช มีความน่ากินที่ดี ความคงทนต่อสภาพอากาศปานกลางเมื่ออยู่ในรูปวัตถุดิบ แต่ดีมากขึ้นเมื่ออยู่ในกล่องวางเหยื่อ ข้อดี คือ วัตถุดิบและกลิ่นหลากหลาย เหมาะสำหรับหนูที่มีความละเอียดลออในการกิน ควรใช้ในที่แห้ง อัดเม็ดแข็ง มีความน่ากินที่ดีมาก คงทนต่อสภาพอากาศได้ดีเยี่ยม มีข้อดี คือ อัดเม็ดแข็ง เหมาะสำหรับหนูที่ชอบกัดแทะ และควรใช้เมื่อต้องการวางเหยื่อในโพรงและเมื่อมีอากาศชื้น อัดเป็นก้อน มีความน่ากินและคงทนต่อสภาพอากาศได้ดีเยี่ยม ข้อดี คือ รูปร่างมีขอบหลายขอบเหมาะกับอุปนิสัยของหนูซึ่งชอบกัดแทะและสามารถแขวนไว้ในอุปกรณ์บรรจุเหยื่อ แนะนำให้ใช้ทั้งในอาคารและนอกอาคาร เหยื่อรูปของเหลว มีความน่ากินและคงทนต่อสภาพอากาศได้ดีเยี่ยม เหมาะกับบริเวณพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารสูง เหยื่อผงที่ติดตามตัว ไม่ต้องอาศัยความน่ากิน เนื่องจากใช้โรยตามทางวิ่งหรือโพรงหนู โดยหนูจะกินเหยื่อเข้าไปเมื่อเลียทำความสะอาดร่างกาย มีความคงทนต่อสภาพอากาศดีเยี่ยม